เทคนิคการซื้อประกันสุขภาพ สวัสดิการภาครัฐและเอกชน

542 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เทคนิคการซื้อประกันสุขภาพ สวัสดิการภาครัฐและเอกชน

หลายๆ คน หลายๆ ครั้ง คงมีคำถามในใจเกี่ยวกับการซื้อประกันสุขภาพ ว่าควรจะซื้อเมื่อไหร่ และซื้อเท่าไหร่ดีให้เพียงพอเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เจ็บป่วย หรือเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมาจริงๆ บางคนที่ทำงานประจำอยู่ บ้างก็มีสวัสดิการประกันกลุ่มแล้ว จะทำอย่างไร หรือ กลุ่มข้าราชการ ที่ก็มีสวัสดิการภาครัฐที่ครอบคลุม แล้วควรจะซื้อประกันสุขภาพหรือไม่ อย่างไรดี แล้วกลุ่มคนที่มีอาชีพอิสระ ควรเลือกประกันสุขภาพแบบไหน

วันนี้เรามาดูความคุ้มครอง ความคุ้มค่า และความเหมาะสมกับแต่ละไลฟ์สไตล์และกลุ่มอาชีพกันค่ะ กลุ่มมนุษย์เงินเดือน ที่มีสวัสดิการประกันกลุ่มอยู่แล้ว และก็มีประกันสังคมอยู่ด้วย ถามว่าจำเป็นหรือไม่ ในการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มเติม ก่อนอื่นต้องมาดูว่า หากเราเจ็บป่วย เราจะเลือกเข้าโรงพยาบาลไหน ค่าห้องประมาณเท่าไหร่ สิ่งที่สวัสดิการของบริษัทมีให้มันคุ้มครองมากพอไหม

ถ้าเราเจ็บป่วยแล้วเลือกเข้าโรงพยาบาลเอกชน ที่ค่าห้องสูง เราก็ควรซื้อประกันสุขภาพเก็บเอาไว้เพราะ นิยามความสำคัญของประกันสุขภาพ คือคุ้มครองเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วย และหลุมพรางสำคัญของมนุษย์เงินเดือนที่คิดว่าตัวเองมีสวัสดิการที่มากพอแล้ว แต่นั้นคือสวัสดิการติดโต๊ะ ไม่ใช่สวัสดิการติดตัวหากเราเกิดเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงขึ้นมา หรือเกิดอุบัติเหตุเป็นทุพพลภาพ ไม่สามารถทำงานได้ บริษัทก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสียเงินจ้างเราอีกต่อไป ในขณะที่สวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เคยมีอยู่ ก็มีโอกาสที่จะหมดลงไปด้วยเช่นกัน

หรือบางคนอาจจะไปเริ่มทำประกันสุขภาพตอนที่สายไป เพราะได้เกิดโรคบางอย่างขึ้นกับตัวเองแล้ว เช่นอาจจะเป็นโรคเนื้องอกในบริเวณต่างๆ หรือโรคร้ายแรงยอดฮิตเช่นมะเร็งก็เท่ากับว่า หากไม่ได้ซื้อประกันสุขภาพเตรียมเอาไว้ ก็ต้องพึ่งสวัสดิการประกันกลุ่มและประกันสังคมยาวไป แต่หากเรามีประกันสุขภาพคุ้มครองแบบพอเพียง ก็จะทำให้เราสามารถเลือกโรงพยาบาลที่ต้องการได้ เวลาเจ็บป่วยจริงๆ และไม่ว่าในอนาคตจะเกิดเป็นโรคอะไรขึ้นมา เราก็ยังมีค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มครองเราอยู่ไปจนแก่ แต่สำคัญอย่าลืมเลือกแบบประกันชีวิตหลักที่คุ้มครองยาวๆไปจนอายุ 85 หรือ 90 และสามารถซื้อประกันสุขภาพต่อสัญญาคุ้มครองได้ยาวไป แต่ละบริษัทก็มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ควรศึกษาเรื่องนี้ให้ดี

หรือถ้ามองว่าปกติเราจะเข้าโรงพยาบาลประกันสังคมในเครือเป็นหลัก ก็อาจจะทำประกันโรคร้ายแรงเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินก้อนมารักษาตัว อย่างน้อยให้มีสวัสดิการไว้สักหน่อยสำหรับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนทั่วๆไป ที่หากเกิดเจ็บป่วยก็มีเงินก้อนมาดูแลรักษาตัวเอง และยังคงใช้สิทธิประกันสังคมได้ แต่นิยามความแตกต่างของการให้บริการของโรงพยาบาลเอกชนกับโรงพยาบาล

ในส่วนของประกันสังคมก็แตกต่างกันด้วย บางทีเราอาจจะไม่ได้รับความสะดวกสบายมากนัก บางครั้งต้องรอคิว เข้าคิวนาน หรือต้องเป็นเคสหนักหรือจำเป็นและเร่งด่วนจริงๆ ถึงจะใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ถ้าเรายอมรับได้ในเรื่องนี้ ก็ถือประกันสังคมเอาไว้และต่อสิทธิ์อย่าได้ขาด แม้จะเกษียณไปแล้วก็ตาม

ส่วนข้าราชการ ที่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลติดตัวตลอดยาวๆไป ตั้งแต่เริ่มทำงาน แต่ในยุคปัจจุบันก็อาจจะไม่ได้สิทธิ์เท่าข้าราชการรุ่นก่อนๆ ดังนั้น หากเราเป็นหนึ่งคนที่อยากได้ความรู้สึกสะดวกสบายเวลาเข้าโรงพยาบาลและชอบนอนโรงพยาบาลเอกชน ก็ควรซื้อประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายเก็บไว้ให้อุ่นใจ แต่หากไม่ซีเรียสเรื่องโรงพยาบาลเอกชน สามารถไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐบาลได้ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีประกันสุขภาพ แต่ก็ยังควรจะมีประกันโรคร้ายแรงเก็บเอาไว้

เผือเกิดเหตุไม่คาดฝัน เป็นโรคร้ายแรงขึ้นมาก็ยังได้เงินก้อนมารักษาตัวเองยามเจ็บป่วย หรือจะเป็นค่าตกใจที่เอาไว้ใช้ในส่วนของค่าใช้จ่ายประจำอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างที่เข้ารับการรักษาตัว ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากๆ แล้วหากเราเป็นอาชีพอิสระ เราควรมีประกันสุขภาพไหม อาชีพอิสระนี่เข้าข่ายเสี่ยงเลย เพราะไม่มีสวัสดิการใด

เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เราต้องเอาเงินออมทั้งหมดที่เก็บมารักษาพยาบาลตัวเอง คงจะดีกว่ามาก ถ้าหากหาประกันสุขภาพเหมาๆ ที่คุ้มครองเพียงพอ และหากมีวงเงินค่ารักษาผู้ป่วยนอกด้วยก็จะคุ้มค่ามากๆ ซึ่งปัจจุบันในตลาดก็มีหลายบริษัทที่ออกแพคเกจประกันสุขภาพที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์กลุ่มอาชีพอิสระ ที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้นๆ ในทุกๆ ปี ยิ่งหากเราเป็นอาชีพที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพราะเดินทางบ่อย หรือกิจวัตรไม่เป็นประจำ ถ้าอยากใช้ชีวิตแบบสุดๆ และเลือกไลฟ์สไตล์แบบลุยๆ หน่อยก็ต้องซื้อประกันสุขภาพให้เพียงพอและครอบคลุมด้วย

สรุปได้ใจความเป็น 9 ข้อควรรู้ก่อนเลือกซื้อประกันสุขภาพ

1. เวลาเข้าโรงพยาบาลจริงๆ จะเข้าโรงพยาบาลไหน ดูค่าห้องที่เหมาะสมและได้ใช้จริง

2. ประกันสุขภาพเป็นเบี้ยจ่ายทิ้งทุกปีเหมือนประกันรถยนต์ แต่ต่างกันตรงที่ ประกันรถหากเคลมเยอะ เปลี่ยนบริษัทในปีถัดๆไปได้แต่ประกันสุขภาพ เป็นโรคร้ายแรง เคลมเยอะ ไม่สามารถเปลี่ยนบริษัทได้ เพราะฉะนั้นเวลาตัดสินใจเลือกต้องดูให้ครอบคลุมกับการใช้งานจริงของเรา

3. สำรวจว่าเรามีสวัสดิการอยู่แล้วเท่าไหร่ และพอเพียงหรือไม่ หากไม่พอ ก็หาซื้อประกันสุขภาพคุ้มครองเอาไว้แบบยาวๆ ที่สามารถจ่ายไปได้จนถึงอายุ 85 หรือ 90 ปี

4. การจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพ เบี้ยจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ตามความเสี่ยงของวัยที่พออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคสูงขึ้นด้วย

5. เพราะเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น เราจึงต้องคำนึงถึงเงินที่จะนำมาจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในยามเกษียณ อาจจะตั้งขึ้นเป็นกองทุน Medical Fund หรือ Long Term Care Fund เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลในอนาคตว่าจะหารายได้มาจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นยามเกษียณแล้ว แต่เตรียมเงินไว้ตั้งแต่ตอนยังหนุ่มสาวที่ยังสามารถทำงานหารายได้ได้

6. ประกันสุขภาพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 25000 ต่อปี และยังถือเป็นเครื่องมือปกป้องเงินออมที่สำคัญ เพราะมีหลายๆคนบอกไว้ว่า "หาเงินมาทั้งชีวิต สุดท้ายต้องเอาเงินนั้นมารักษาตัวตอนแก่ชราจนหมด" แต่จะดีกว่าไหม หากเรามีประกันสุขภาพคุ้มครองไปนานๆ

7. ปัจจุบันมีแบบประกันสุขภาพให้เลือกหลายหลาย เราสามารถเปรียบเทียบข้อมูลได้ก่อนการตัดสินใจซื้อ เลือกแบบที่เหมาะกับตัวเอง ถ้าไม่ค่อยได้หาหมอนัก ก็เอาแบบผู้ป่วยในอย่างเดียว เบี้ยประกันก็จะถูกหน่อย แต่หากชอบหาหมอ ก็เลือกแบบที่มีผู้ป่วยนอกรองรับไว้ ก็จะรู้สึกว่าคุ้มค่า ระหว่างทางหากเจ็บป่วย ก็สามารถไปหาคุณหมอเบิกค่ารักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอก ก็ได้ใช้วงเงินระหว่างปีแบบไม่รู้สึกเสียเปล่า

8. คำนึงถึงระยะเวลารอคอยที่สำคัญในการเริ่มต้นทำประกันสุขภาพครั้งแรก ทุกบริษัทจะมีเงื่อนไขเหมือนกัน คือคุ้มครองอุบัติเหตุทันทีหลังจากกรมธรรม์อนุมัติ แต่ความคุ้มครองในส่วนค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยต้องรอ 30 วันนับจากวันเริ่มสัญญาจึงจะสามารถใช้สิทธิ์ได้ และมี 8 โรค ที่จะมีระยะเวลารอคอยของโรค 120 วัน ได้แก่ เนื้องอก ถุงน้ำ มะเร็งทุกชนิด ริดสีดวงทวาร ไส้เลื่อน ต้อเนื้อ ต้อกระจก การตัดทอนซิล นิ่ว เส้นเลือดขอด เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่พึงรู้ก่อนตัดสินใจทำประกันสุขภาพ

9. คำนึงถึงเงื่อนไขที่เราต้องแถลงก่อนการทำประกันสุขภาพ เพราะหากปกปิดสาระสำคัญ อาจจะทำให้กรมธรรม์ถูกบอกล้างสัญญาเป็นโมฆียะได้ในอนาคต ดังนั้นเราควรแถลงทุกเรื่องอันเป็นสาระสำคัญลงในใบคำขอ ไม่ควรปกปิดเพราะสัญญาประกันสุขภาพเป็นสัญญาปีต่อปี หากบริษัทตรวจพบประวัติการรักษาสำหรับบางโรคที่เป็นก่อนการทำประกัน โดยที่เราไม่ได้แถลงลงไปในใบคำขอ ก็อาจจะทำให้บริษัทบอกล้างสัญญาและเป็นผลเสียกับเราในอนาคต

ให้นึกถึงความสำคัญและจำเป็นในคราวที่ต้องใช้งานจริงๆ ว่าสิ่งที่เรามีอยู่เพียงพอหรือไม่ หากลูกเราป่วย สิ่งแรกที่เราจะนึกถึงคืออะไร ระหว่าง โรงพยาบาลที่ดีที่สุด หรือ โรงพยาบาลที่ถูกที่สุด โดยคุณจะเป็นคนเลือกประกันในวันที่คุณสุขภาพดี แต่หากเกิดเป็นโรคใดๆ ขึ้นมาแล้ว คุณก็อาจจะไม่สามารถทำประกันได้อีกตลอดชีวิต

เพราะฉะนั้นให้รีบทำไว้ตั้งแต่วันที่คุณยังสุขภาพดี เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือปกป้องความเสี่ยง ปกป้องเงินออมของตัวคุณเองและครอบครัว เพื่อความมั่นคงในอนาคต

ได้เวลามาสำรวจตัวเองกันแล้ว ในวันที่ยังสุขภาพดี เพราะหลายๆคน ตกหลุมพรางของสวัสดิการบริษัทโดยลืมคำนึงว่า หากเราเกษียณและไม่มีสวัสดิการค่ารักษาจากบริษัทอีกต่อไป นั่นหมายความว่า เราจะต้องเตรียมเงินเพื่อค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถควบคุมได้ต่อปีด้วยตัวเอง หลายๆคนที่ลืมมองจุดนี้และจะคิดไปหาซื้อประกันสุขภาพตอนเกษียณ แต่กลับเป็นโรคเรื้อรังเสียแล้ว เช่น โรคไต โรคหัวใจ โรคมะเร็ง เท่ากับว่าหลังจากนี้เป็นต้นไป พวกเขาจะต้องเตรียมเงินก้อนไว้รักษาตัวเอง เมื่อสวัสดิการบริษัทหมดลง หากเตรียมพร้อมได้ก่อน ก็ควรหาซื้อประกันสุขภาพไว้ตั้งแต่ยังวัยหนุ่มสาว เพื่อให้ครอบคลุมและคุ้มครอง

ซื้อหาตามความจำเป็นและเหมาะสมด้วยความสามารถในการจ่ายเบี้ยที่ไม่มากเกินความจำเป็น การวางแผนด้านประกันสุขภาพจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการจัดการความเสี่ยงของชีวิต สำหรับทุกเพศ ทุกวัย และทุกๆอาชีพ



ดร.สกา​ เวชมงคล​กร, IP / CFP®
BMK Wealth Management "เคียงข้างทุกความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน"

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้